การซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมโดยส่วนใหญ่นิยมซื้อด้วยวิธีขอสินเชื่อหรือขอกู้วงเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน เนื่องจากการซื้อบ้านหรือคอนโดหนึ่งหลังต้องใช้เงินก้อนใหญ่จำนวนมาก และการขอสินเชื่อบ้านแน่นอนว่าสร้างความกังวลให้กับผู้ต้องการสินเชื่อบ้านไม่มากก็น้อย เพราะไม่รู้ว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่อบ้านหรือคอนโดให้หรือไม่ การกู้ร่วมซื้อบ้านและคอนโดจึงเป็นทางเลือกที่หลายคนนิยมใช้
ทางโครงการบ้านคุณธีร์…ทราบดีว่าการยื่นขอสินเชื่อบ้านหรือคอนโดแบบกู้ร่วมจะช่วยให้ได้รับการพิจารณาสินเชื่อง่ายขึ้น แถมได้วงเงินสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น แต่การกู้ร่วมซื้อบ้านหรือคอนโดยังมีผลบางอย่างตามมาที่ต้องรู้…เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการไม่รู้
การกู้ร่วมซื้อบ้านหรือคอนโดเป็นอย่างไร
การกู้ร่วมซื้อบ้านหรือคอนโด หมายถึง การทำสัญญาขอสินเชื่อวงเงินก้อนเดียวกันร่วมกับผู้อื่นด้วยความสมัครใจ เป็นการรับผิดชอบสินเชื่อบ้านหรือคอนโดร่วมกัน หรือเป็นการร่วมกันยื่นขอสินเชื่อบ้านโดยที่ผู้กู้ร่วมทุกคนจะเป็นเจ้าของสินเชื่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับผู้ต้องการสินเชื่อบ้านหรือคอนโด
เหตุผลที่คนนิยมขอสินเชื่อบ้านหรือคอนโดแบบกู้ร่วมนั้นมีหลายประการ เช่น รายได้ของผู้กู้เพียงคนเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการอนุมัติสินเชื่อบ้านหรือคอนโด ถูกธนาคารหรือสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อบ้านหรือคอนโด (กู้ไม่ผ่าน) ได้สินเชื่อบ้านแต่ไม่เต็มวงเงินกับราคาบ้าน (จ่ายส่วนต่างราคาบ้านหรือคอนโดไม่ไหว) ดังนั้น หลายคนจึงใช้วิธีกู้ร่วมในการขอสินเชื่อบ้านจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน
ข้อดีของการกู้ร่วมซื้อบ้านหรือคอนโด
เพราะการกู้ร่วมซื้อบ้านและคอนโดต่างมีข้อดีที่ทำให้หลายคนนิยมใช้วิธีนี้ในการขอสินเชื่อบ้านหรือคอนโด ซึ่งการกู้ร่วมซื้อบ้านและคอนโดมีข้อดี ดังนี้
- ได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านหรือคอนโดง่ายขึ้น เนื่องจากธนาคารหรือสถาบันการเงินจะนับรวมรายได้ทั้งของผู้มีชื่อเป็นผู้กู้สินเชื่อบ้านหรือนับรายได้รวมทั้ง 2 คน เพราะทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะมองว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้านหรือคอนโดหากผู้กู้คนใดคนหนึ่งไม่สามารถผ่อนชำระสินเชื่อบ้านได้
- ได้รับวงเงินสินบ้านหรือคอนโดเพิ่มขึ้น เพราะความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านหรือคอนโดมีถึง 2 คน ดังนั้น ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะพิจารณาวงเงินให้เพิ่มเติมจากเดิมที่เขียนในสัญญา
- มีคนช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินบ้านหรือคอนโด การกู้ร่วมซื้อบ้านหรือคอนโดไม่ใช่การค้ำประกัน แต่เป็นการรับผิดชอบหนี้บ้านหรือคอนโดร่วมกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถผ่อนชำระหรือชำระจำนวนหนี้ไม่ได้ตามที่ตกลงกัน
5 ข้อควรรู้ก่อนการตัดสินใจกู้ร่วมซื้อบ้านหรือคอนโด
เมื่อทราบถึงข้อดีของการกู้ร่วมซื้อบ้านและคอนโดแล้ว ถัดไปเป็นข้อควรรู้สำหรับพิจารณาการกู้ร่วมซื้อบ้านและคอนโด การกู้ร่วมซื้อบ้านมีข้อดีก็จริง แต่ยังมีจุดที่ต้องพึงระวังก่อนการตัดสินใจกู้ร่วมซื้อบ้านซึ่งมี 5 ข้อ ดังนี้
- ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในส่วนนี้จะมี 2 แบบ คือ ใส่ชื่อคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยที่ผู้กู้ร่วมจะไม่มีกรรมสิทธิ์ใดในบ้านหรือคอนโด กับใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในกรณีนี้ผู้กู้ร่วมจะมีสิทธิ์ในบ้านหรือคอนโดเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ดี หากเป็นการใส่ชื่อผู้ร่วมกู้ทุกคน ในกรณีที่ต้องการขาย ให้เช่า หรือโอนกรรมสิทธิ์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้กู้ทุกคนที่มีรายชื่อในสัญญา
- การรับภาระหนี้สิน การกู้ร่วมบ้านหรือคอนโดไม่ได้หมายความว่าจะต้องผ่อนชำระหนี้บ้านหรือคอนโดอย่างเท่ากันในแต่ละงวด แต่หมายถึงการรับผิดชอบหนี้สินร่วมกัน มีหลายรายที่อาจยืมชื่อของอีกฝ่ายหรือผู้ที่มีสิทธิ์ในการกู้ร่วมมาใช้ แต่รับผิดชอบผ่อนชำระหนี้บ้านหรือคอนโดแต่เพียงผู้เดียว หากร่วมชำระหนี้บ้านหรือคอนโด อาจแบ่งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจ่ายมากกว่า ต้องตกลงกันให้ดีก่อนทำสัญญากู้ร่วม
นอกจากนี้ ธนาคารหรือสถาบันการเงินสามารถเรียกชำระหนี้จากผู้กู้ร่วมคนใดก็ได้ในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้บ้านหรือคอนโด เพราะการกู้ร่วมหมายถึงการร่วมรับผิดชอบด้วยกัน
- การลดหย่อนภาษี การกู้ร่วมสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน (น่าจะมีหลายคนไม่ทราบในส่วนนี้) แต่การลดหย่อนภาษีจะไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และยังต้องหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ในสัญญาอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น ผู้กู้ร่วมในสัญญามีจำนวน 2 ราย ฉะนั้นจำนวนภาษีที่สามารถลดหย่อนได้จะไม่เกิน 50,000 บาทต่อปีต่อราย นั่นหมายความว่าผู้กู้ร่วมสินเชื่อบ้านหรือคอนโดไม่สามารถแบ่งการลดหย่อนภาษีได้ตามอำเภอใจ
- การขอสินเชื่อบ้านหรือคอนโดหลังถัดไป ในกรณีที่ใส่ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์คนเดียว ผู้กู้ร่วมอีกฝ่ายสามารถยื่นขอสินเชื่อบ้านหรือคอนโดหลังใหม่ได้โดยได้สิทธิ์ผ่อนปรนเสมือนยื่นขอสินเชื่อบ้านหลังแรก เพราะถือว่าไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่หากผู้กู้ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคน จะถือว่าเป็นการซื้อบ้านหลังที่สองและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการขอสินเชื่อบ้านหลังที่สองตามที่ภาครัฐกำหนด เช่น ต้องผ่อนชำระบ้านหลังแรกไปแล้วมากกว่าหรือเทียบเท่า 2 ปี และต้องมีประวัติการชำระบ้านหลังแรกที่ดี (เครดิตบูโร) นอกจากนี้ หากเป็นบ้านหลังที่สองวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติจะไม่ได้เต็มจำนวนของราคาขายบ้านหรือคอนโด 100 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนนี้เป็นข้อควรรู้ที่สำคัญมาก
(หมายเหตุ: ในส่วนนี้ให้ติดตามมาตรการ LTV จากทางภาครัฐ เนื่องจากปี 2566 เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดมาตรการการกู้ร่วมเพื่อบรรเทาหนี้ในครัวเรือนให้แก่ประชาชน และในปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงมาตรการ LTV เดิม ดังนั้น ผู้ที่ต้องการสินเชื่อบ้านแบบกู้ร่วมต้องติดตามนโยบายจากภาครัฐให้ดี เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะส่งผลต่อการวางแผนซื้อบ้านหรือคอนโดได้)
- การยกเลิกการกู้ร่วม หมายถึง การขอถอนชื่อออกจากเงินกู้ร่วม ซึ่งสามารถทำได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธนาคารหรือสถาบันการเงินที่อนุมัติสินเชื่อให้เท่านั้น สาเหตุของการยกเลิกการกู้ร่วม ได้แก่ การเลิกราหรือหย่าร้าง ผู้กู้ร่วมอีกฝ่ายมีปัญหาทางการเงิน เป็นต้น
(หมายเหตุ: ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะมีทางออกให้กับการยกเลิกการกู้ร่วม 3 แบบ ได้แก่ ถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม รีไฟแนนซ์จากกู้ร่วมเป็นกู้คนเดียว และประกาศขาย)
นอกเหนือจาก 5 ข้อที่กล่าวไปข้างต้นที่ต้องพิจารณาก่อนการกู้ร่วมขอสินเชื่อบ้านหรือคอนโด ยังมีกรณีของผู้กู้ร่วมคนหนึ่งคนใดเกิดเสียชีวิตขึ้นมา ในกรณีนี้ต้องแจ้งให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินทราบเพื่อเปลี่ยนแปลงสัญญา และธนาคารหรือสถาบันการเงินจะให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกเข้ามาลงชื่อเพื่อแสดงเจตนารับสภาพหนี้ภายใน 1 ปี เนื่องจากกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งจะตกทอดไปสู่ทายาท (ปัจจุบันธนาคารหรือสถาบันการเงินมักจะเสนอประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อมาด้วย ซึ่งประกันตัวนี้มีชื่อว่า MRTA หรือ Mortgage Reducing Term Assurance เป็นประกันที่คุ้มครองด้านการประกันชีวิตเพื่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในช่วงที่มีการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านกับธนาคาร ผู้ที่เป็นทายาทของผู้กู้สินเชื่อบ้านจะได้ไม่ต้องแบกภาระ)
คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นกู้ร่วมซื้อบ้านหรือคอนโด
ทั้งนี้ทางสถาบันการเงินหรือธนาคารจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่สามารถยื่นขอกู้ร่วมสินเชื่อบ้านหรือคอนโดได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ คนในครอบครัว สามี-ภรรยา และคู่รัก LGBTQ+
- คนในครอบครัวหรือสายเลือดเดียวกัน ในกรณีนี้จะต้องเป็นพี่-น้องสายเลือดเดียวกัน อาจนามสกุลเดียวกันหรือไม่เหมือนกันก็ได้ (หากคนละนามสกุลต้องมีหลักฐานยืนยันเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีพ่อ-แม่คนเดียวกัน) เป็นพ่อ-แม่-ลูก หรือญาติในเครือเดียวกัน
- สามี-ภรรยา ผู้กู้ร่วมในกลุ่มนี้มีสถานะเป็นสามี-ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือจดทะเบียนสมรสกัน เนื่องจากยุคปัจจุบันคู่สามี-ภรรยาหลายคู่นิยมไม่จดทะเบียนสมรส ในกรณีนี้ธนาคารหรือสถาบันการเงินให้สิทธิ์กู้ร่วมสินเชื่อบ้านหรือคอนโด แต่ต้องมีหลักฐานยืนยันหรือบ่งชี้การเป็นสามี-ภรรยากัน เช่น รูปถ่ายงานแต่งงาน เป็นต้น
- คู่รัก LGBTQ+ ผู้กู้กลุ่มนี้ทางธนาคารและสถาบันการเงินให้สิทธิ์ในการกู้ร่วมสินเชื่อบ้านหรือคอนโดเช่นกัน แต่ต้องมีหลักฐานยืนยันหรือบ่งชี้การเป็นคู่ชีวิตกัน เช่น รูปถ่ายงานแต่งงาน เป็นต้น
การรีไฟแนนซ์สำหรับการกู้ร่วมซื้อบ้านหรือคอนโด สามารถรีไฟแนนซ์ได้เหมือนการกู้ซื้อบ้านหรือคอนโดแบบคนเดียว ซึ่งการรีไฟแนนซ์เป็นการเปลี่ยนสถาบันการเงินหรือธนาคารใหม่เพื่อให้ดอกเบี้ยบ้านที่ถูกลง
สรุป:
การกู้ร่วมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการมีบ้านหรือคอนโดเป็นของตนเอง ถึงแม้การกู้ร่วมจะมีข้อดีหลายอย่างแต่ก็ตามมาด้วยจุดอ่อนที่ผู้ที่ต้องการกู้ร่วมต้องพิจารณาให้ดีก่อนการเซ็นสัญญา เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ชมข้อมูลโครงการบ้านคุณธีร์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านช่องทาง
Facebook: THEE Home
LINE: @theehome
คุณเจ: 095-645-6942