ต้องยอมรับว่ายุคสมัยปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก จากอดีตที่การขอสินเชื่อบ้านร่วมกัน ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะให้สิทธิ์เฉพาะคู่รักหญิงชายที่จดทะเบียนสมรสและญาติสนิทหรือพี่น้องเท่านั้นให้สามารถยื่นเอกสารขอสินเชื่อได้ อย่างไรก็ดี เมื่อสภาพสังคมเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของกลุ่มลูกค้าใหม่ หรือกลุ่ม LGBTQ ทำให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องปรับตัวเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มที่มีกำลังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้และสินเชื่อบ้านได้
ทางโครงการบ้านคุณธีร์เข้าใจและตระหนักถึงความเท่าเทียมของทุกคนในสังคม จึงขอนำเสนอแนวทางการเตรียมตัวสำหรับกลุ่มคู่รัก LGBTQ สำหรับเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกันอย่างไรให้ผ่านการพิจารณาสินเชื่อบ้านจากธนาคาร
การเตรียมตัวสำหรับคู่รัก LGBTQ อยากยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกันให้ผ่านต้องเตรียมอะไรบ้าง
กลุ่ม LGBTQ คือใคร?
กลุ่ม LGBTQ ย่อมาจาก Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender และ Queer (หรืออาจเป็น LGBT ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน) หมายถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศและเป็นคู่รักกัน (คู่รักเพศเดียวกัน) และเนื่องจากปัจจุบันสังคมที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้แสดงออกถึงตัวตนของตัวเองมากขึ้น จำนวนกลุ่มคน LGBTQ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในประเทศไทยเองมีการคาดการณ์กันว่าจะมีกลุ่ม LGBTQ ที่อายุมากกว่า 15 ปีและอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประมาณ 4 ล้านคน หรือมีสัดส่วนประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทั้งหมด นอกจากนี้ กลุ่ม LGBTQ เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพทางการเงิน เพราะมีความสามารถในการใช้จ่าย (High Purchasing Power) และมีรายได้มากกว่ากลุ่มสถานะชายหญิงในวัยเดียว หรือมีรายได้ประมาณ 50,000 – 85,00 บาทต่อเดือน
กลุ่ม LGBTQ สำคัญอย่างไร
เนื่องจากศักยภาพด้านการใช้จ่ายและการเงินของกลุ่ม LGBTQ ด้วยเหตุนี้เองทำให้สถาบันการเงินและธนาคารต่างปรับตัวและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินเชื่อบ้านสำหรับกลุ่ม LGBTQ ให้สามารถยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกันได้ (กู้ร่วม) หรือเป็นกลุ่มลูกค้าอีก Segment ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ… ของประเทศไทย หรือ Civil Partnership Bill อยู่ในระหว่างการแก้ไขและพิจารณาเนื้อหาและหลักการของข้อกฎหมายกันอยู่ ทั้งนี้ธนาคารและสถาบันการเงินที่พิจารณาให้กู้สินเชื่อบ้านร่วมกันของคู่รัก LGBTQ ต่างให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและเสมอภาคของบุคคลทุกคนในสังคม ตามกฎหมายสถาบันการเงินและธนาคารจะยินยอมให้มีการยื่นกู้ร่วมสินเชื่อบ้านเฉพาะแก่คู่รักชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสกัน และพี่น้องร่วมสายเลือดหรือญาติใกล้ชิดเท่านั้น ดังนั้น หากร่างกฎหมายนี้มีการประกาศและบังคับใช้ นั่นหมายความว่ากลุ่มคู่รัก LGBTQ สามารถดำเนินการยื่นขอสินเชื่อบ้านจากธนาคารและสถาบันการเงินร่วมกันได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม (เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตยังไม่ได้ประกาศใช้ แต่มีการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและผ่านความเห็นชอบ จึงเป็นร่างที่มี “พ.ศ…” ต่อท้าย ดังนั้นหากมีการประกาศและบังคับใช้ในปี พ.ศ. ใด จะใช้ปีนั้นต่อท้ายพระราชบัญญัติ)
ธนาคารหรือสถาบันการเงินใดบ้างที่กลุ่มคู่รัก LGBTQ สามารถยื่นขอสินเชื่อบ้านรวมกันได้
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนธนาคารและสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อบ้านสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคู่รัก LGBTQ หลายราย แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกธนาคารในประเทศไทย (เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่าคู่สมรสชายหญิงและคู่รักชายหญิงที่แต่งงานแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน) เริ่มจากปี 2563 มีธนาคารพาณิชย์จำนวน 3 รายที่เสนอให้คู่รัก LGBTQ สามารถยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกันได้ ประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารยูโอบี และถัดมาในเดือนมิถุนายน ปี 2565 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นธนาคารแห่งแรกในกำกับของรัฐที่เสนอสินเชื่อสำหรับกลุ่มคู่รัก LGBTQ ผ่านโครงการ My Pride ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อบ้านได้ โดยมีข้อเสนอดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านต่ำกว่าตลาดและมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 40 ปี และยังมีอีกหลายธนาคารที่นำเสนอสินเชื่อบ้านให้กับกลุ่มคู่รัก LGBTQ ดังต่อไปนี้
ธนาคาร | คุณสมบัติของคู่รัก LGBTQ ที่ต้องการยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกัน |
1. ธนาคารกสิกรไทย | คู่รัก LGBTQ ต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน อายุ 20 ปีขึ้นไปและมีอายุเมื่อรวมกับระยะเวลาผ่อนชำแล้วต้องไม่เกิน 70 ปี ให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 90% ของราคาชื้อขาย ระยะเวลาผ่อน 30 ปี หากมีรายได้ประจำต้องมีอายุงานไม่น้อยกว่า 1 ปี (รวมที่ทำงานเก่าได้และต้องผ่านการทดลองหรือมีอายุงานกับที่ทำงานปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 6 เดือน) |
2. ธนาคารไทยพาณิชย์ | คู่รัก LGBTQ ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 65 ปีเมื่อรวมกับระยะเวลาผ่อนชำระ วงเงินสินเชื่อสูงสุด 100% ของราคาประเมินหลักประกัน ไม่ได้ระบุเงินเดือนขั้นต่ำแต่ต้องมีรายได้แน่นอนและมั่นคง และไม่เคยเป็นลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังขอกู้เพิ่มได้อีก 10% ของราคาซื้อขายหากซื้อบ้านที่ธนาคารสนับสนุน |
3. ธนาคารยูโอบี | คู่รัก LGBTQ ต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำ 20,000 บาท และอายุ 20 ปีขึ้นไป วงเงินสินเชื่อสูงสุดแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ บ้านใหม่สูงสุด 95-100% บ้านมือสอง สูงสุด 95-100% และก่อสร้างบ้าน สูงสุด 85% (ให้ตรวจสอบรายละเอียดกับธนาคาร) |
4. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ | ไม่ได้ระบุคุณสมบัติของคู่รัก LGBTQ แต่มีสินเชื่อที่ว่า My Pride (ให้ตรวจสอบรายละเอียดกับธนาคาร) |
5. ธนาคารออมสิน | คู่รัก LGBTQ ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป วงเงินสินเชื่ออนุมัติสูงสุด 100% ของราคาซื้อขาย (ให้ตรวจสอบรายละเอียดกับธนาคาร) |
6. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) | คู่รัก LGBTQ ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้ระบุเงินเดือนขั้นต่ำและวงเงินสินเชื่อสูงสุด (ให้ตรวจสอบรายละเอียดกับธนาคาร) |
7. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา | คู่รัก LGBTQ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีขึ้นไปและไม่เกิน 65 ปี ผู้กู้หลักต้องมีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน หากเป็นพนักงานประจำ ต้องมีอายุการทำงานตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป (ทั้งที่ทำงานเก่าและปัจจุบัน) และต้องเป็นที่อยู่อาศัยใหม่จากโครงการในกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ธนาคารให้การสนับสนุนมีราคาซื้อขาย 4 ล้านบาทขึ้นไป (หลังหักส่วนลดทั้งหมดแล้ว) |
8. ธนาคารซีไอเอ็มบีที (CIMBT) | ต้องมีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เป็นพนักงานประจำหรือเจ้าของกิจการและถือกรรมสิทธิ์ในหลักประกันร่วมกัน (ให้ตรวจสอบรายละเอียดกับธนาคาร) |
9. ธนาคารทีทีบี (TTB) | หากเป็นพนักงานประจำต้องมีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน ได้รับการบรรจุมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 เดือน หากเป็นเจ้าของกิจการต้องมีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป ประกอบธุรกิจภายในประเทศไม่น้อยกว่า 2 ปี (ให้ตรวจสอบรายละเอียดกับธนาคาร) |
ยังมีอีกหลายธนาคารที่นำเสนอหรือออกแคมเปญสินเชื่อบ้านกู้ร่วมกันให้กับคู่รัก LGBTQ แต่ไม่ได้แสดงรายละเอียดอย่างชัดเจนถึงคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการสินเชื่อร่วมกัน รวมถึงข้อเสนอหรือประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้น คู่รัก LGBTQ อาจต้องติดต่อกับทางธนาคารที่ไม่ได้กล่าวถึงในบทความโดยตรงเอง
การยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกันระหว่างระหว่างกลุ่มคู่รัก LGBTQ กับกลุ่มคู่รักชายหญิงแตกต่างกันอย่างไร
กลุ่มคู่รัก LGBTQ อาจไม่แน่ในว่าสามารถยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกันได้เหมือนคู่สามีภรรยาชายหญิง (คู่สมรส) ทางโครงการบ้านคุณธีร์ตอบได้เลยว่าสามารถทำได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับคู่รักชายหญิงที่แต่งงานกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน อย่างไรก็ดี เงื่อนไขของการอนุมัติสินเชื่อการกู้ซื้อบ้านร่วมกันของกลุ่มคู่รัก LGBTQ จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนโยบายและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบ้านร่วมกันของกลุ่มคู่รัก LGBTQ ของแต่ละธนาคาร แต่จะมีหลักเกณฑ์รวมถึงเงื่อนไขที่คล้ายคลึงกัน โดยมีเอกสารที่ต้องยื่น ได้แก่ 1) ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน 2) บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน 3) เอกสารแสดงการกู้ร่วมซื้อรถยนต์ร่วมกัน (ถ้ามี) 4) สลิปหรือใบเสร็จที่ยืนยันการเติมน้ำมันให้กับรถยนต์ที่ระบุชื่อคู่รักเป็นเจ้าของ 5) เอกสารที่มีการเซ็นรับรองว่าอยู่ร่วมกัน 6) รูปภาพหรือรูปถ่ายที่ยืนยันว่าเป็นคู่รักกัน เช่น รูปถ่ายงานแต่งงาน 7) เอกสารอื่น ๆ ที่ยืนยันว่าทำธุรกิจร่วมกัน ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างการยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกันระหว่างกลุ่มคู่รัก LGBTQ กับกลุ่มคู่สมรสชายหญิงจะอยู่ที่ใบทะเบียนสมรส กับหลักฐานการแสดงว่าเป็นคู่รักกัน ซึ่งกลุ่มคู่รัก LGBTQ จะต้องเตรียมเอกสารยืนยันความสัมพันธ์ประกอบการยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกันมากกว่าคู่สมรสชายหญิงทั่วไป รวมถึงหลักฐานการเงินหรือรายได้ในแต่ละเดือน
หากคู่รัก LGBTQ อยากยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกันให้ผ่าน…ต้องทำอย่างไร
นอกจากนี้ ทางโครงการบ้านคุณธีร์แนะนำว่าคู่รัก LGBTQ ที่ต้องการยื่นกู้สินเชื่อบ้านร่วมกันให้ผ่าน ให้เตรียมตัวเสมือนผู้ที่ต้องการยื่นขอกู้ร่วมสินเชื่อบ้านทั่วไป ที่ต้องเตรียมตัวในเรื่องดังต่อไปนี้
- ให้ตรวจสอบว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินใดบ้างที่เสนอสินเชื่อบ้านแบบกู้ร่วมกันให้กับคู่รัก LGBTQ
- เตรียมเอกสารที่ต้องใช้ยื่นขอสินเชื่อบ้าน ได้แก่ หนังสือรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน รายได้หลักทางการค้า หรือ Statement จากธนาคารหรือสถาบันการเงินย้อนหลัง 6 เดือน
- ตรวจสอบประวัติการผ่อนชำระสินเชื่ออื่น ๆ ย้อนหลังจากเครดิตบูโร หากมีประวัติการผ่อนชำระที่ดีหรือยังไม่เคยมีประวัติการขอสินเชื่อมาก่อน และมีรายได้ที่มั่นคงและแน่นอน แนวโน้มที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านกู้ร่วมกันมีสูงมาก แต่หากยังมีภาระต้องชำระสินเชื่ออื่นอยู่เกินกว่าความสามารถในการผ่อนชำระ ซึ่งต้องเร่งเคลียร์หนี้ในส่วนอื่นให้เหลือน้อยพอที่ธนาคารจะพิจารณาว่ามีกำลังในการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านคืนได้
- เอกสารยืนยันความสัมพันธ์ว่าเป็นคู่รักกัน ประกอบด้วย ทะเบียนบ้านที่มีชื่อคู่รักอาศัยอยู่ด้วยกัน บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน เอกสารแสดงการกู้ร่วมซื้อรถยนต์ร่วมกัน (ถ้ามี) สลิปหรือใบเสร็จที่ยืนยันการเติมน้ำมันให้กับรถยนต์ที่ระบุชื่อคู่รักเป็นเจ้าของ เอกสารที่มีการเซ็นรับรองว่าอยู่ร่วมกัน รูปภาพหรือรูปถ่ายที่ยืนยันว่าเป็นคู่รักกัน เช่น รูปถ่ายงานแต่งงาน และเอกสารอื่น ๆ ที่ยืนยันว่าทำธุรกิจร่วมกัน
- เตรียมเอกสารส่วนตัวให้ครบถ้วน ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของทั้ง 2 คน
- สัญญาจะซื้อจะขาย
หากคู่รัก LGBTQ เลิกกัน…ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบผ่อนชำระสินเชื่อบ้านที่ยืนกู้ร่วมกัน?
ในกรณีที่คู่รัก LGBTQ ไปต่อกันไม่ได้หรือไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้เป็นเหตุให้ต้องเลิกรากันไป (เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ไม่ว่าเพศใดก็ตาม) แต่ภาระและความรับผิดชอบสินเชื่อบ้านที่ยื่นกู้ร่วมกันยังคงอยู่ คำถามคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนตรงนี้ หรือธนาคารจะดำเนินการอย่างไรหากเกิดปัญหานี้ขึ้น คำตอบคือมีหลายแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและเป็นข้อมูลสำหรับคู่รัก LGBTQ หากต้องแยกทางกันในภายหลัง ดังนี้
- ถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม หากตกลงกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย (เพราะการให้สินเชื่อบ้านร่วมกันแก่คู่รัก LGBTQ ธนาคารจะให้ถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน) หลังจากนั้นให้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการถือครองกรรมสิทธิ์คนเดียวกับเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ทำสัญญากู้ร่วมโดยตรง ทั้งนี้ธนาคารมีสิทธิ์ที่จะไม่ถอดถอนกรรมสิทธิ์ให้เหลือผู้กู้ 1 ราย หากพิจารณาแล้วฝ่ายที่ต้องการถือครองกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้บ้านที่เหลือได้
- ให้รีไฟแนนซ์บ้านจากกู้ร่วมเป็นเหลือคนเดียว ซึ่งธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ทำการรีไฟแนนซ์จะพิจารณาอนุมัติโดยใช้เกณฑ์ รายได้ของผู้กู้ ยอดดาวน์บ้านที่กู้ซื้อ ภาระหนี้ต่อเดือน และเครดิตบูโรของผู้กู้
- ในกรณีที่ไม่ต้องการครอบครองบ้านหลังดังกล่าวแล้วทั้ง 2 ฝ่าย ให้ประกาศขายบ้าน แต่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้แก่ ค่าตรวจสภาพบ้าน ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าอากรแสตมป์ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ
สรุป:
คู่รัก LGBTQ สามารถยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกันหรือกู้ซื้อบ้านร่วมกันได้ เพราะมีหลายธนาคารให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงสินเชื่อบ้าน อย่างไรก็ดี คู่รัก LGBTQ อาจต้องเตรียมตัวและเอกสารมากกว่าคู่สมรสและคู่รักชายหญิงที่ยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกัน
เพราะบ้านเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม ทางโครงการบ้านคุณธีร์ให้ความสำคัญและขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมและเสมอภาคให้เกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มในสังคม มีบริการยื่นเอกสารขอสินเชื่อบ้านร่วมกันให้กับกลุ่มคู่รัก LGBTQ ที่กำลังมองหาบ้านทาวน์โฮมและต้องการยื่นขอสินเชื่อบ้านร่วมกัน
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
ชมข้อมูลโครงการบ้านคุณธีร์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านช่องทาง
Facebook: THEE Home
LINE: @theehome
คุณเจ: 095-645-6942