5 ทักษะที่ต้องมีหากต้องการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จ

5 ทักษะที่ต้องมีหากต้องการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จ

       มูลค่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยรวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง) มีส่วนแบ่งประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product) หรือจีดีพี (GDP) สามารถสร้างการจ้างงานให้กับประเทศได้ประมาณ 2.8 ล้านคน นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก สำหรับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์สามารแบ่งประเภทของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้เป็น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์/ทาวน์โฮม คอนมิเนียม และอื่น ๆ (เช่น อาคารสำนักงาน) นอกจากนี้นักพัฒนาฯในอุตสาหกรรมนี้มีทั้งรายใหญ่ กลาง และเล็ก โดยมีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ถือครองตลาดนี้มากที่สุดประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าอุตสาหกรรมทั้งหมด

         ด้วยความน่าสนใจในมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ ทำให้มีนักพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มือใหม่ที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจประเภทนี้จำนวนไม่น้อย ดังนั้น ทางโครงการบ้านคุณธีร์อยากแบ่งปันแนวทางในการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ที่สนใจ ผ่านการนำเสนอทักษะที่สำคัญและจำเป็นเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือต้องการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จ

ทักษะประเภทใดบ้างที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มือใหม่ต้องมี หากต้องการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ประสบความสำเร็จ

           ทักษะประเภทใดบ้างที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มือใหม่ต้องมี

          นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือ Developer หมายถึง ผู้ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ ในรูปของผลตอบแทนที่เป็นกำไรสูงสุด ใครบ้างที่ถือว่าเป็นนักพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์? คำตอบ คือ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีหลายรูปแบบ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างบ้านและที่อยู่อาศัย (บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม/ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม) และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ซื้อบ้านใหม่หรือมือสองรวมถึงคอนโดมิเนียมเพื่อปล่อยเช่า กลุ่มหลังนี้ถือว่าเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน เพราะสามารถสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ที่ครอบครองอยู่ได้ อย่างไรก็ดี ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี หากมีความสามารถในการบริหารจัดการและดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เป็นผลิตภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าและราคาแพง

           ดังนั้น สำหรับผู้ที่สนใจจะเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จ กล่าวคือ สามารถสร้างผลกำไรและยืนหยัดในธุรกิจประเภทนี้ได้ในระยะยาว ทักษะที่จำเป็นและสำคัญสำหรับการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มี 5 ทักษะ ดังนี้

1.ทักษะด้านการประเมินความเป็นไปได้ของทำเลที่ตั้ง

            ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์/ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม หรืออาคารสำนักงานให้เช่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จของโครงการอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้น คือ ทำเลที่ตั้ง (Location) ด้วยเหตุนี้ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จแทบจะทุกราย จะมีความสามารถหรือทักษะด้านการประเมินความเป็นไปได้ของทำเลที่ตั้งของโครงการที่คาดว่าจะพัฒนาให้เกิดผลกำไรและมูลค่าในอนาคต

          การประเมินความเป็นไปได้ของทำเลที่ตั้งที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องดำเนินการ ประกอบด้วย การพิจารณาขนาด หน้ากว้าง รูปร่างที่ดิน ทำเล ข้อดี/ข้อเสีย ปัญหาและอุปสรรคของทำเลที่ตั้ง ทั้งนี้ต้องพิจารณาสภาพทางกายภาพของทำเลที่ตั้งเช่นกัน สภาพทางกายภาพ ได้แก่ ลักษณะดิน ความลาดชัน ความสูงของที่ดิน การถมดิน ค่าถมดิน ความสะดวก  รวมถึงการพิจารณาการเข้าถึงสาธารณูปโภค สังคม การคมนาคม สภาพแวดล้อม และชุมชนละแวกใกล้เคียง นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งจะเป็นตัวกำหนดประเภทของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่จะพัฒนาในอนาคต

2.ทักษะด้านกฎหมาย

        ทักษะด้านนี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากทำเลที่ตั้งที่คาดว่าจะพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ถูกกำหนดโดยกฎหมายด้านโยธาธิการและผังเมืองให้เป็นพื้นที่ที่มีเงื่อนไขในการใช้ประโยชน์ของที่ดิน รวมถึงมีราคาซื้อขายที่แตกต่างกัน เช่น ผังเมืองสีเขียวหรือเกษตรกรรม เป็นพื้นที่ที่โครงการบางประเภทไม่สามารถดำเนินการได้ (ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม) เพราะฉะนั้น นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องศึกษาให้ดี

        นอกจากกฎหมายด้านโยธาธิการและผังเมือง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องศึกษาพระราชบัญญัติควบคุมอาคารในแต่ละท้องที่ เพราะแต่ละท้องที่อาจมีข้อแตกต่างและข้อกำหนดเฉพาะได้ รวมถึงกฎหมายบ้านจัดสรร กฎหมายอาคารชุด กฎหมายอาคารชุด กฎหมายหอพัก และกฎหมายค้าปลีก ยิ่งไปกว่านั้น ควรศึกษากฎหมายพัฒนาพื้นที่ โครงการเวนคืนที่ดินของรัฐ จากที่กล่าวมาข้างต้น นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องศึกษากฎหมายเหล่านี้อย่างครบถ้วน และเพิ่มความระมัดระวังด้านทำเลที่ตั้งของโครงการฯให้มากที่สุดเพื่อป้องการความผิดพลาดและล้มเหลวของโครงการฯ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

3.ทักษะด้านการเงิน

การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงิน: เป็นการวิเคราะห์สภาวะและความคุ้มค่าทางการเงินของทุนที่ใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะการลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์และประเมินผลตอบแทนของโครงการ เช่น มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ผลตอบแทนภายในโครงการ (IRR) ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนของโครงการ (ROI) ผลตอบแทนเฉพาะส่วนเงินลงทุนของเจ้าของ (ROE) ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) และจุดคุ้มทุนของโครงการ (Breakeven Point) เพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการและสภาพคล่องทางการเงินในปัจจุบันและอนาคต

การบริหารต้นทุน: การจัดทำโครงการอสังหาริมทรัพย์โครงการหนึ่ง ต้นทุนของโครงการเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ตัวอย่างเช่น การจัดทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Analysis) และการทำวิจัยตลาด (Market Research) เป็นต้น ดังนั้น นักพัฒนาอสังริมทรัพย์จะต้องเตรียมตัวทางด้านการเงินไว้อย่างรอบคอบ เพราะโครงการอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการให้สำเร็จ แม้แต่โครงการขนาดเล็กใช้เงินเยอะเช่นกัน

สำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มือใหม่ ควรสอบถามหาความรู้หรือหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงมาช่วยดูแลให้คำปรึกษาการบริหารต้นทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สามารถจัดสรรเงินทุน ค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ยและสภาพคล่องเพื่อควบคุมต้นทุนตามงบประมาณที่วางไว้ รวมถึงช่วยผลักดันให้โครงการสามารถเดินหน้าอย่างไม่สะดุด

การขอสินเชื่อสำหรับลูกค้า: เป็นการกลยุทธ์ส่งเสริมการขายอีกรูปแบบหนึ่งที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นิยมนำมาใช้ในการจูงใจผู้บริโภคให้ตัดสินซื้อโครงการของตน นักพัฒนาจะต้องมีความรู้และความเข้าใจทางการเงินในเรื่องสินเชื่อ และการยื่นขอสินเชื่อรวมถึงความสามารถในกการตรวจสอบข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ตามที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินกำหนดมาเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ นอกจากนี้ ต้องมีความสามารถด้านการให้ความรู้เรื่องสินเชื่อกับผู้บริโภค เช่น อัตราดอกเบี้ย จำนวนค่าผ่อนชำระในแต่ละเดือน ระยะเวลาในการผ่อนสินเชื่อ และการยื่นขอสินเชื่ออย่างไรให้ผ่าน เป็นต้น

4.ทักษะด้านการบริหารจัดการ

 การบริหารจัดการงานก่อสร้าง: ผู้รับเหมาก่อสร้างถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการเช่นกัน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องตรวจสอบคุณสมบัติรวมถึงประวัติผู้รับเหมาให้ดีก่อนการทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโครงการ หากได้ผู้รับเหมาที่ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีความซื่อสัตย์ และความสามารถในการดำเนินงานก่อสร้างโครงการอยู่ในระดับแย่ จะส่งผลต่อโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน นักพัฒนามือใหม่ควรศึกษาหาความรู้และความเข้าใจในเรื่องการบริหารงานก่อสร้าง เริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนการก่อสร้าง ช่วงระหว่างก่อสร้าง และช่วงหลังงานก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยควบคุมงานก่อสร้างและงบประมาณที่ใช้ลงทุนในโครงการได้ตามที่วางแผนไว้

5.ทักษะด้านการตลาด

            เมื่อประเมินถึงความเป็นไปได้ของทำเลที่ตั้งของโครงการ รวมถึงพิจารณาข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถสรุปได้ว่าทำเลใดที่มีศักยภาพ เหมาะกับการพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตได้แล้ว ทักษะถัดไปที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องมี คือ ทักษะด้านการตลาด ทักษะด้านนี้จะอาศัยพื้นฐานความรู้ด้านกลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาด (4Ps) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคาขาย (Price) ช่องทางการขาย (Place) และการส่งเสริมตลาด (Promotion) อย่างไรก็ดี นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องเข้าใจอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของโครงการอสังหาริมทรัพย์แต่ละประเภทที่คาดว่าจะพัฒนาในอนาคตหรือประเภทของโครงการที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาได้ในอนาคต โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • การวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค: ในส่วนนี้เป็นการวิเคราะห์ความต้องการของตลาด รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อความต้องการในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะพัฒนาขึ้นในอนาคต หรือการวิเคราะห์และทำความเข้าใจอุปสงค์ของโครงการอสังหาริมทรัพย์ (Demand Analysis) เพราะความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดประเภทของโครงการอสังหาริมทรัพย์ การวิเคราะห์เช่นนี้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ข้อมูลจากศูนย์วิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะการแข่งขันทางการตลาด การลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการของผู้บริโภค ติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการเปิดใหม่จากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และการทำวิจัยตลาด เป็นต้น ข้อมูลอุปสงค์ของโครงการอสังหาริมทรัพย์จะช่วยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถพัฒนาและวางแผนโครงการฯที่ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความเสี่ยงและความผิดพลาดอื่น ๆ ของโครงการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อพัฒนาโครงการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ถัดไปนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องตัดสินใจเลือกประเภทของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่จะพัฒนาขึ้นบนที่ทำเลที่ได้เลือกสรรไว้แล้ว
  • การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของโครงการ: เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นภายหลังที่ได้ผลการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของโครงการเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นตัวกำหนดประเภทของโครงการอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการและตอบสนองต่อวิถีชีวิตของกลุ่มผู้บริโภค การตั้งราคาขาย การวางแผนการตลาดและการส่งเสริมการขายที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของโครงการ หากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เลือกประเภทของโครงการและออกแบบผลิตภัณฑ์โดยขาดการพิจารณาและการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค อาจส่งผลให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาขึ้นประสบกับความล้มเหลวได้
  • การเลือกประเภทของโครงการอสังหาริมทรัพย์: เป็นการเลือกประเภทของโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงการบ้านเดี่ยว โครงการอาคารพาณิชย์ หรือโครงการทาวน์โฮม/ทาวน์เฮ้าส์ เป็นต้น เพื่อพัฒนาให้เกิดมูลค่าในอนาคต เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากประเมินความเป็นไปได้ของทำเลที่ตั้ง ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผลวิเคราะห์อุปสงค์ของตลาด รวมถึงได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายของโครงการ นอกเหนือจากข้อมูลดังกล่าวเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกประเภทของโครงการฯ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังต้องพิจารณาเลือกโครงการที่เหมาะสมกับผังเมือง สำรวจคู่แข่งหลักและคู่แข่งรอง ในประเด็นการออกแบบโครงการของพวกเขาอย่างไร มีแนวคิดที่ใช้ในการพัฒนาโครงการอย่างไร จุดขายของโครงการของคู่แข่งมีอะไรบ้าง และจุดเด่นที่เป็นประโยชน์ที่คู่แข่งนำเสนอให้ผู้บริโภคได้แก่อะไรบ้าง ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้กับการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี
  • การออกแบบผลิตภัณฑ์: สำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มือใหม่การออกแบบผลิตภัณฑ์อาจเป็นโจทย์ที่ยาก การออกแบบผลิตภัณฑ์ หมายถึง การออกแบบลักษณะทางกายภาพของโครงการ เช่น ขนาดของพื้นที่ที่เหมาะสมกับขนาดของครอบครัวของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จำนวนห้อง ขนาดของห้องครัว ขนาดของพื้นที่จอดรถ และความกว้างของถนนหน้าบ้านสำหรับการสัญจรเข้าออก เป็นต้น    

สำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มือใหม่ควรใช้สถาปนิกมืออาชีพหรือมีประสบการณ์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามประเภทของโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้กับโครงการฯของตนเอง เพราะประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของสถาปนิกเหล่านั้นจะช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึงจากการออกแบบ ช่วยสร้างจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ให้เหนือคู่แข่ง และตอบสนองต่อความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้

  • การเตรียมการขาย: สิ่งที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องดำเนินการสำหรับการเตรียมการขาย ได้แก่ การวางแผนการตลาดและส่งเสริมการขาย การตั้งราคาขาย และการเตรียมเอกสาร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

            การวางแผนการตลาดและส่งเสริมการขาย หากต้องการขายโครงการให้ได้ตามยอดหรือเป้าหมายที่วางไว้ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการวางแผนการตลาดและการส่งเสริมการขายตั้งแต่แรกเริ่มพัฒนาโครงการฯ การวางแผนการตลาดจะช่วยให้นักพัฒนาอสังหาฯทราบถึงข้อมูลของคู่แข่ง เช่น ราคาขาย กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงกลยุทธ์การส่งเสริมการขาย และข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการตลาดที่เหมาะสมกับโครงการ

นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรนำสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ มาช่วยในการประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน นิยมหาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สนใจจากอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ควรนำเสนอข้อมูลของโครงการอสังหาริมทรัพย์ครอบคลุมแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ทั้งนี้การให้ข้อมูลติดต่อสอบถามของโครงการต้องมีความถูกต้องและชัดเจน

          การตั้งราคาขาย ราคาขายถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภค และกำไรที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะได้จากโครงการฯ การตั้งราคาขายสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น กำหนดราคาขายจากต้นทุน กำหนดราคาจากความสามารถในการซื้อของลูกค้า และกำหนดจากการแข่งขันในตลาด เป็นต้น อย่างไรตาม ควรตั้งราคาขายให้จูงใจผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นความอยากซื้อผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น

            การเตรียมเอกสาร ในส่วนนี้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องให้ความสำคัญกับเอกสารที่ใช้ในการซื้อ-ขายโครงการเป็นอย่างยิ่ง เพราะเอกสารซื้อ-ขายเป็นการแสดงถึงความเป็นมืออาชีพและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่สนใจในโครงการ เช่น ใบราคา เงื่อนไขการซื้อ เงื่อนไขการปรับเปลี่ยนต่อเติม สัญญาจะซื้อขาย และเอกสารอื่น ๆ ที่เป็นข้อมูลที่สร้างความสบายใจให้กับผู้บริโภค

  • บริการหลังการขาย: เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องไม่ลืมว่าโครงการที่พัฒนาขึ้นไม่ได้จบลงที่การขายโครงการได้จนหมด แต่ยังมีเรื่องของการบริการหลังการขายที่ต้องดำเนินการให้กับผู้ซื้อ เช่น การดูแลรับประกันการก่อสร้างตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ทั้งนี้ หากโครงการที่ทำขึ้นเป็นโครงการที่เข้าเกณฑ์ของกฎหมายจัดสรร นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องจัดให้มีนิติบุคคลดูแลโครงการภายหลังส่งมอบทรัพย์ หน้าที่ของนิติบุคคล ได้แก่ การซ่อมบำรุงรักษาโครงการ การดูแลชุมชนและพื้นที่ของโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย สวยงาม และน่าอยู่อาศัย     

สุดท้ายนี้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการเตรียมการขาย คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ขายโครงการโดยตรงให้กับผู้บริโภคหรือผู้ซื้อต้องมีความรู้และความเข้าใจในโครงการเป็นอย่างดี มีความน่าเชื่อถือ สุภาพ พร้อมให้บริการและสามารถตอบคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ต้องมีความสามารถในการปิดการขายโครงการได้ ข้อดีของการเตรียมการขาย คือ สามารถช่วยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปวดหัวน้อยลงเมื่อผู้ซื้อผิดสัญญา และลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการขายโครงการอสังหาริมทรัพย์

สรุป:

5 ทักษะที่ต้องมีหากต้องการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จ

5 ทักษะที่โครงการบ้านคุณธีร์ได้นำเสนอข้างต้นเป็นทักษะที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มือใหม่ หรือผู้ที่สนใจจะเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหากต้องการประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ และสามารถยืนในธุรกิจได้ในระยะยาว 5 ทักษะเหล่านี้ยังเป็นแนวทางที่สามารถนำไปตรวจสอบคุณสมบัติของตนเองว่ายังขาดทักษะทางด้านไหนบ้าง หากพบว่ายังขาดทักษะอันใดอันหนึ่ง ควรศึกษาหาความรู้ในทักษะนั้น ๆ เพื่อดำเนินการและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการและประสบความสำเร็จ

_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _

ชมข้อมูลโครงการบ้านคุณธีร์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านช่องทาง

Facebook: THEE Home 

LINE: @theehome 

คุณเจ: 095-645-6942

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *