ติดบูโรคืออะไร?…ส่งผลต่อการอนุมัติสินเชื่อบ้านอย่างไร!

ติดบูโรคืออะไร?...ส่งผลต่อการอนุมัติสินเชื่อบ้านอย่างไร!

          เมื่อยื่นเอกสารสำหรับขอสินเชื่อบ้านอย่างครบถ้วนกับทางสถาบันการเงินหรือธนาคาร แต่ไม่ได้รับการอนุมัติเนื่องจากติดเครดิตบูโร เป็นเรื่องที่คนทั่วไปทั้งต้องการกู้ซื้อบ้านหรือไม่ได้ต้องการต้องเคยได้ยินผ่านหูเป็นแน่แท้ ดังนั้น หากเรามีความต้องการที่จะซื้อบ้านหนึ่งหลัง นอกเหนือจากการมองหาบ้านที่เหมาะสมกับความต้องการและตอบโจทย์กับการใช้ชีวิต ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ เรามีเครดิตดีเพียงพอที่สถาบันการเงินหรือธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อบ้านให้หรือไม่ หรือเรามีประวัติการชำระหนี้สินที่ดีหรือไม่

           ทางโครงการบ้านคุณธีร์ไม่ลังเลที่จะไขข้อข้องใจในประเด็นที่ว่าลูกค้าไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อบ้านเนื่องจากติดเครดิตบูโร ทางโครงการฯ เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงอยากเสนอการเตรียมความพร้อมในการยื่นกู้สินเชื่อบ้านเบื้องต้น นอกเหนือจากการเตรียมเอกสารที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เครดิตบูโรคืออะไร? ส่งผลต่อการอนุมัติสินเชื่อบ้านจริงหรือไม่?  

ทาวน์โฮม

           เราอาจเคยได้ยินคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวพูดว่า “กู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน แบงค์บอกติดบูโร” เลยพาลทำให้ใครหลายคนเกิดความรู้สึกกลัวบูโรขึ้นมา บูโรหรือเครดิตบูโรเป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยมากและมากที่สุด เพราะเข้าใจบูโรหรือเครดิตบูโรเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อบ้าน รวมถึงความสามารถในการขึ้นแบล็กลิสต์ผู้มีสินเชื่อ ซึ่งการโดนขึ้นแบล็กลิสต์ทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่าคนที่โดนนั้นไม่อาจซื้อบ้านหรือกู้สินเชื่ออื่น ๆ ได้ เป็นเหตุผลที่ทำให้ใครหลายคนที่ต้องการสินเชื่อบ้านรู้สึกกังวลกับ “บูโร” หรือ “เครดิตบูโร” เป็นอย่างมาก

          อันที่จริง “บูโร” หรือ “เครดิตบูโร” เป็นเพียงบริษัทแห่งหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีชื่ออย่างเป็นทางการ คือ “บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด” การที่เรียกกันติดปากว่า “บูโร” หรือ “เครดิตบูโร” น่าจะมาจากชื่อภาษาอังกฤษของบริษัทแห่งนี้ “National Credit Bureau” และเป็นบริษัทแห่งเดียวในประเทศไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) อนุญาตให้ดำเนินการและรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว

            บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 จากการรวมกิจการโดยบริษัทข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัทข้อมูลเครดิตไทย จำกัด เมื่อรวมกิจการแล้ว จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau) โดยบริษัทแห่งนี้มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้

  1. จัดเก็บ รักษา รวบรวม และประมวลผลข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงินหรือธนาคารที่เป็นสมาชิก สถาบันการเงินและธนาคารที่เป็นสมาชิก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาล บริษัทบัตรเครดิต บริษัทผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล และบริษัทลิสซิ่งเช่าซื้อ สถาบันการเงินและธนาคารที่สมาชิกต้องนำส่งข้อมูลของลูกค้าให้แก่เครดิตบูโร เป็นหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้
  2. ให้ข้อมูลแก่สถาบันการเงินหรือธนาคาร (ผู้ปล่อยสินเชื่อ) เพื่อป้องกันการเกิดหนี้กองทุนฟื้นฟู
  3. รายงานข้อมูลเครดิตตามที่สมาชิกร้องขอ

            สถาบันการเงินและธนาคารจะต้องส่งข้อมูลการชำระสินเชื่อของลูกค้าเข้าในระบบของเครดิตบูโรทุกเดือน (โดยเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลไว้ 36 เดือนสำหรับบุคคลธรรมดา และ 60 เดือนสำหรับนิติบุคคล ดังนั้นข้อมูลเก่าจะถูกแทนที่ด้วยข้อมูลใหม่ทุกเดือน)

            โดยทั่วไปสถาบันการเงินและธนาคารจะใช้รายงานข้อมูลเครดิตเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้และวินัยในการชำระหนี้ของเจ้าของข้อมูลหรือผู้ที่ต้องการสินเชื่อ (สถาบันการเงินและธนาคารจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลก่อนจึงจะมีสิทธิขอข้อมูลเครดิตจากเครดิตบูโรได้)

              จากหน้าที่และความรับผิดชอบของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร จะเห็นได้ชัดว่า บริษัทแห่งนี้ ไม่มีอำนาจในการขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์ลูกค้าสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือธนาคาร ความเชื่อที่ว่าเครดิตบูโรเป็นผู้กำหนดว่าใครควรได้หรือไม่ได้สินเชื่อ และมีอำนาจในการขึ้นแบล็กลิสต์ลูกค้าจึงไม่เป็นความจริง เครดิตบูโรเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการพิจารณาให้สินเชื่อเท่านั้น และแม้ว่าเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อ แต่เครดิตบูโรก็ยังมีความสำคัญอยู่ไม่น้อยและเป็นเรื่องที่ผู้ต้องการสินเชื่อไม่ควรมองข้าม

ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไรกับการขอสินเชื่อบ้าน?

           ข้อมูลเครดิต คือรายงานที่ประกอบด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจ้าของข้อมูลหรือผู้ขอสินเชื่อ เช่น ประวัติการขอสินเชื่อ การได้รับอนุมัติ การชำระสินเชื่อ และการชำระสินค้าและบริการบัตรเครดิต เป็นต้น

             ข้อมูลเครดิตส่งผลอย่างไรกับการขอสินเชื่อบ้าน คำตอบ คือ เป็นการเพิ่มหรือลดโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อบ้าน เพราะสถาบันการเงินหรือธนาคารจะมีข้อมูลเครดิตที่บ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ และพฤติกรรมการชำระหนี้ของผู้ต้องการสินเชื่อบ้าน

             ทั้งนี้ ทางเครดิตบูโรเองสนับสนุนให้ผู้ต้องการสินเชื่อบ้านตรวจสอบเครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring) หรือคะแนนเครดิต คือ ตัวชี้วัดความน่าจะเป็นในการชำระหนี้ ด้วยวิธีการทางสถิติในการประมวลผลข้อมูล ดำเนินการโดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การให้คะแนนเครดิตของทางเครดิตบูโร จะแบ่งเป็นระดับความเสี่ยง (Risk Grade) 8 ระดับตามระดับคะแนนที่ได้รับ

เครดิตบูโรคืออะไร?

               ยิ่งมีคะแนนเครดิตสูงมากเท่าไหร่ สถาบันการเงินหรือธนาคารจะมองว่าผู้ขอสินเชื่อมีระดับความเสี่ยงในการชำระหนี้คืนต่ำ นอกจากนี้ ข้อดีของการมีคะแนนเครดิตที่ดี ได้แก่ โอกาสที่จะได้รับบริการสินเชื่อที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และพฤติกรรมการชำระหนี้มากกว่าเดิม และมีความรู้ที่จะไม่สร้างความเสี่ยงทางการเงินเกินตัว รวมถึงเป็นการเพิ่มพูนความรู้เรื่องทางการเงิน การบริหารจัดการการเงินให้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ติดบูโร” คืออะไร?

            ที่นี้มาดูกันต่อ “ติดบูโร” คืออะไร เพราะพูดถึงกันบ่อยหากมีใครขอสินเชื่อไม่ผ่าน (เพราะแบงค์แจ้งว่าติดบูโร)

           “การติดบูโร” เกิดขึ้นใน 2 กรณี ได้แก่ มีประวัติการชำระหนี้ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด กับ มีบูโรสูง

            กรณีแรก: ประวัติการชำระหนี้ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด หมายถึง ผู้ขอสินเชื่อยังคงมีหนี้ค้างชำระที่จำเป็นต้องเคลียร์หนี้ค้างชำระให้หมด

            กรณีสอง: บูโรสูง คือ การที่ผู้กู้สินเชื่อมีภาระหนี้ต่อเดือนสูง เมื่อเทียบกับรายได้ต่อเดือน ตัวอย่างเช่น หากผู้กู้มีภาระผ่อนสินเชื่อหลายอย่าง (เช่น ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต) รวมทั้งหมดต่อเดือนประมาณ 11,000 บาท และผู้กู้มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 20,000 บาท เมื่อหักรายจ่ายค่าผ่อนสินเชื่อทั้งหมด จะเหลือเงินใช้ต่อเดือนประมาณ 9,000 บาท หรือวันละ 300 บาท ในกรณีนี้สถาบันการเงินหรือธนาคารอาจประเมินว่าผู้กู้อาจไม่มีความสามารถในการชำระสินเชื่อได้ เนื่องจากรายได้ที่หักจากภาระผ่อนสินเชื่อไม่พอให้ใช้จ่ายตลอดเดือน

             ทั้งนี้ ในรายงานของเครดิตบูโรจะมีการแบ่งสถานะของประวัติการผ่อนชำระหนี้ออกเป็น 12 สถานะ ของแต่ละสินเชื่อทั้งหมดที่เรามีและเคยมี

 เครดิตบูโรคืออะไร?

             ทั้ง 12 สถานะจะมีสถานะหมายเลข 10 และสถานะหมายเลข 11 ที่มีโอกาสจะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือธนาคารค่อนข้างสูง (ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่นำมาพิจารณาร่วมกัน เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น)

            สถานะหมายเลข 30/31/32/33 สามารถยื่นขอสินเชื่อได้หากมีการชำระหนี้ที่คงค้างหมดแล้ว และต้องรออีกประมาณ 1 ปีหากต้องการขอสินเชื่อใหม่ (ระยะเวลาสำหรับรอเพื่อขอยื่นสินเชื่อใหม่ขึ้นอยู่กับนโยบายหรือเกณฑ์การพิจารณาของแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงิน ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการพิจารณาสินเชื่อ)

           สถานะหมายเลข 20 และสถานะหมายเลข 40/41/42/43 สามารถขอสินเชื่อได้เช่นกันแต่ต้องชำระหนี้ที่คงค้างทั้งหมด และต้องรออีกประมาณ 6 เดือนหากต้องการขอสินเชื่อใหม่ ระยะเวลาสำหรับรอเพื่อขอยื่นสินเชื่อใหม่ขึ้นอยู่กับนโยบายหรือเกณฑ์การพิจารณาของแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงิน ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการพิจารณาสินเชื่อ)

Tips: ขอสินเชื่อบ้านให้ผ่านต้องทำอย่างไร

            นอกจากการเตรียมเอกสารตามที่สถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อยื่นขอสินเชื่อ ยังมีเรื่องของการตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ หรือเครดิตบูโร เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงินหรือธนาคาร ทางโครงการบ้านคุณธีร์ ขอเสนอแนะการเตรียมตัวเพิ่มเติม (เคยเขียนแนะนำไปแล้ว) ดังนี้

  1. ตรวจสอบรายได้หรือรายรับในแต่ละเดือนสอดคล้องกับมูลค่าบ้านที่ต้องการหรือไม่ เพื่อพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน
  2. มีภาระผ่อนสินเชื่ออื่นอีกหรือไม่ จำนวนเท่าไหร่ต่อเดือน
  3. จำนวนบัตรเครดิตส่งผลต่อการพิจารณาสินเชื่อบ้านเช่นกัน เพราะสถาบันการเงินหรือธนาคารจะมองว่าการมีบัตรเครดิตหลายใบผู้ขอสินเชื่อมีโอกาสที่จะสร้างหนี้อื่น ๆ อีก ซึ่งส่งผลต่อการความสามารถในการชำระหนี้ในส่วนที่เป็นสินเชื่อบ้าน (แนะนำว่าให้ปิดบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้ หรือลดให้เหลือ 1 – 2 ใบเท่านั้น)
  4. เคยมีประวัติการค้างชำระสินเชื่อหรือไม่ หากมีการค้างชำระ ให้รีบชำระหนี้ที่ค้างอยู่ให้หมด เก็บหลักฐานการชำระหนี้ที่ค้างอยู่ให้ครบทุกใบรวมถึงหลักฐานที่แสดงการปิดหนี้ เพราะถึงแม้ว่าจะชำระหนี้ที่คงค้างไปหมดแล้ว แต่ประวัติข้อมูลการชำระหนี้เดิมในเครดิตบูโรยังคงมีอยู่ ดังนั้น การชำระหนี้ที่ค้างอยู่เดิมจนหมดการสร้างข้อมูลประวัติการชำระหนี้ใหม่ วิธีการลบประวัติข้อมูลการค้างชำระหนี้ในเครดิตบูโร (แม้จะปิดหนี้ไปแล้ว) คือ การสร้างประวัติการชำระหนี้ใหม่ หากผู้ขอสินเชื่อเคยค้างชำระ ต้องจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่ให้หมด หลังจากนั้นสร้างประวัติใหม่ด้วยการชำระหนี้ตรงเวลาไม่ค้างชำระเลยต่อเนื่อง 36 เดือนประวัติค้างชำระก็จะหายไปจากเครดิตบูโร
  5. ยื่นเอกสารการชำระหนี้และการปิดยอดหนี้ที่คงค้างชำระไปพร้อมกับเอกสารประกอบการพิจารณาสินเชื่อบ้าน
  6. ควรตรวจเครดิตสกอริ่งหรือคะแนนเครดิตกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร หากมีคะแนนเครดิตที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้สถาบันการเงินหรือธนาคารสามารถนำเสนอสินเชื่อที่สอดคล้องกับรายได้และพฤติกรรมการชำระสินเชื่อเพิ่มเติมในอนาคต

           อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ส่งผลหรือมีอิทธิพลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันหรือธนาคาร ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่ หลักเกณฑ์การพิจารณาหรือนโยบายการอนุมัติสินเชื่อของแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ และประวัติการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ

  _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _

ชมข้อมูลโครงการบ้านคุณธีร์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านช่องทาง

Facebook: THEE Home 

LINE: @theehome 

คุณเจ: 095-645-6942

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *