เชื่อว่าหลายคนอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น คอนโดมีเนียม บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮมหรือทาวน์เฮาส์ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่อาจทำให้ลังเล หรือยังไม่กล้าตัดสินใจเข้ามาคุยกับโครงการอย่างจริงจัง อาจเป็นเรื่องของความกังวลหรือความกลัว และไม่แน่ใจว่าจะยื่นเรื่องกู้ซื้อบ้าน ผ่านไม่ผ่าน บทความนี้มีคำแนะนำการเตรียมตัวและความพร้อมการยื่นกู้ซื้อบ้านจากธนาคาร
เรามี 7 คำแนะนำ การเตรียมความพร้อมยื่นกู้ซื้อบ้านมีดังนี้
คำแนะนำ 1: สำรวจตัวเอง……พร้อมหรือไม่พร้อมสำหรับการเป็นหนี้ระยะยาว
การกู้ซื้อบ้านนั้น เปรียบเสมือนภาระผูกพันระยะยาว กล่าวคือ ต้องมีการผ่อนชำระเงินกู้ซื้อบ้านกับสถาบันทางการเงินหรือธนาคารเป็นเวลามากกว่า 10 ปีขึ้นไป นอกจากความต้องการมีบ้านเดี่ยว คอนโด บ้านแฝด หรือทาวน์โฮมเป็นของตนเอง เพื่อสร้างครอบครัว ขยายครอบครัว หรือเพื่อการลงทุนก็ตาม สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การสำรวจตนเองด้านความพร้อมทางการเงินเพราะความต้องการซื้อบ้านใครก็มีได้ ส่วนความพร้อมในการซื้อบ้านนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งและสำคัญ นอกเหนือจากความพร้อมในการผ่อนชำระ ผู้กู้ต้องมีวินัยทางการเงินที่เข้มแข็ง รวมทั้งความพร้อมที่จะเป็นหนี้ระยะยาว แถมยังเป็นหนี้ที่ถือว่าค่อนข้างก้อนใหญ่ ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างรัดกุมและเคร่งครัด
การผ่อนชำระหนี้ระยะยาว ต้องมั่นใจว่ามีความพร้อมทางการเงินในการชำระหนี้รายเดือนได้ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องราคาบ้านเดี่ยว คอนโดมีเนียม บ้านแฝดหรือทาวน์โฮม ดังนั้นการหาบ้านหรือคอนโดมีเนียมที่เหมาะสมกับรายได้นั้น สามารถประเมินได้จากการพิจารณารายได้ 60 เท่าของรายได้ต่อเดือน เช่น มีรายได้ต่อเดือน 40,000 บาท X 60 เดือน = 2,400,000 บ้านหรือคอนโดมีเนียมที่เหมาะกับรายได้และความสามารถในการซื้อจะมีราคาประมาณ 2,400,000 บาท
ลำดับถัดไป ต้องประเมิน ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้รายเดือน เมื่อทราบราคาบ้านหรือคอนโดมีเนียมที่เหมาะสมกับรายได้และสามารถซื้อได้แล้ว ยังต้องคำนวณยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือนเช่นกัน พร้อมกับต้องสำรวจตนเองว่าพร้อมกับค่าผ่อนชำระบ้านระยะยาวหรือไม่ เช่น ราคาบ้าน 2,400,000 บาท ระยะเวลากู้ 30 ปี ดอกเบี้ย 6% จะมียอดผ่อนชำระต่อเดือน 12,950 บาท (เป็นการคำนวณโดยการประมาณการ) ทั้งนี้ควรประเมินด้วยว่าในอนาคตจะมีค่าใช้จ่ายที่สำคัญหรือจำเป็นอีกหรือไม่
คำแนะนำ 2: สำรวจและเปรียบเทียบดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน เป็นอีกปัจจัยในการคำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือน ยิ่งดอกเบี้ยสูง ยอดผ่อนชำระรายเดือนก็จะสูงตามไปด้วย โดยปกติแล้วยอดผ่อนชำระรายเดือนนั้น ผู้กู้จะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยสูงกว่าเงินต้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสำรวจอัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านของแต่ละธนาคาร ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันไป
ตัวอย่างเช่น ราคาบ้าน 2,400,000 บาท ระยะเวลากู้ 30 ปี ดอกเบี้ย 6.1% จะมียอดผ่อนชำระต่อเดือน 10,908 บาท หากอัตราดอกเบี้ย 6.25% จะมียอดผ่อนชำระต่อเดือน 11,083 บาท หรือ อัตราดอกเบี้ย 7.35% จะมียอดผ่อนชำระต่อเดือน 12,401 บาท (ยอดผ่อนชำระดังกล่าวเป็นยอดรวมระหว่างเงินต้นและดอกเบี้ย, เป็นการคำนวณโดยการประมาณการ, อัตราเงินดาวน์บ้าน 25% ของราคาบ้าน)
บางธนาคารเสนออัตราดอกเบี้ยสูงมาก บางธนาคารไม่สูงเท่าไหร่ ทั้งนี้ธนาคารที่เสนออัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงนั้น อาจมีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ผู้กู้จำเป็นจะต้องมี หรือผู้กู้มีเครดิตที่ดี ธนาคารก็อาจอนุมัติวงกู้ซื้อบ้านมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องศึกษาเงื่อนไขการกู้ซื้อบ้านให้ดี
ปัจจุบัน ธนาคารส่วนใหญ่กำหนดดอกเบี้ยแตกต่างกันในแต่ละปีขึ้นอยู่กับธนาคารและปัจจัยอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น วงเงินอนุมัติกู้ซื้อบ้าน 2,000,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 30 ปี โดยปีแรก อัตราดอกเบี้ย 3.25% มียอดผ่อนชำระต่อเดือน 9,000 บาท ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 4.00% จะมียอดผ่อนชำระต่อเดือน 9,900 บาท ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ยแบบ MRR-0.75% จะมียอดผ่อนชำระต่อเดือน 11,000 บาท เดือนที่ 37-42 อัตราดอกเบี้ย 4.00% จะมียอดผ่อนชำระรายเดือน 11,500 บาท และเดือนที่ 43 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย คือ MRR-0.75% ยอดผ่อนชำระต่อเดือน 11,500 บาท
ดังนั้นควรสำรวจและเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยจากหลากหลายธนาคารเพื่อผลประโยชน์ของผู้กู้เอง
คำแนะนำ 3: ต้องมีเงินสดพร้อมจ่ายเงินดาวน์
โดยทั่วไป สถาบันการเงินหรือธนาคารจะมีกฎและเงื่อนไขในการอนุมัติวงเงินกู้ซื้อบ้าน โดยมีหลักเกณฑ์ คือ จะอนุมัติวงเงินกู้ซื้อบ้านสูงสุดประมาณ 90% ของราคาบ้านหรือคอนโดมีเนียม เช่น บ้านหรือคอนโดมีเนียมราคา 2,400,000 บาท ธนาคารจะอนุมัติวงเงินกู้ซื้อบ้านสูงสุดประมาณ 2,160,000 บาท ส่วนที่เหลือประมาณ 240,000 บาท ต้องเป็นเงินสดที่ผู้กู้จะต้องจ่ายตรงให้กับโครงการ
อย่างไรก็ตาม ยอดผ่อนชำระรายเดือนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินดาวน์บ้านเช่นกัน หากเราสามารถจ่ายเงินดาวน์บ้านได้เยอะ ยอดผ่อนชำระก็จะลดลง ตัวอย่างเช่น เช่น ราคาบ้าน 2,400,000 บาท ระยะเวลากู้ 30 ปี ดอกเบี้ย 6% จ่ายดาวน์บ้าน 30% ของราคาบ้าน หรือประมาณ 720,000 บาท จะมียอดผ่อนชำระต่อเดือน 10,072 บาท (เป็นการคำนวณโดยการประมาณการ และอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดหรือข้อเสนอของแต่ละธนาคาร)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายธนาคารมีการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดลูกค้าสินเชื่อบ้าน จึงมีการเสนอสินเชื่อบ้านที่มาพร้อมกับการผ่อนดาวน์ที่อยู่อาศัยแบบปลอดดอกเบี้ย หรืออนุมัติวงเงินกู้ซื้อบ้านตามอาชีพของผู้กู้ บางสาขาอาชีพธนาคารอาจอนุมัติวงเงินถึง 100% ของราคาบ้าน หากผู้กู้มีเงินสำหรับดาวน์บ้านไม่มากนัก แต่มีความสามารถในการผ่อนชำระรายเดือน อาจจะเลือกวิธีนี้ก็ในการซื้อบ้านได้เช่นกัน
คำแนะนำ 4: บัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือนต้องสวย
เมื่อปฏิบัติตาม 3 คำแนะนำที่ผ่านมา เรื่องถัดไปที่ต้องเตรียมพร้อม คือ การทำให้บัญชีเงินฝากธนาคารมีเงินเข้าและคงเหลืออย่างสม่ำเสมอ ธนาคารจะขอดูบัญชีเงินฝากธนาคารย้อนหลัง 6 เดือนเพื่อพิจารณาการอนุมัติกู้ซื้อบ้าน เช่น รายรับต่อเดือนเท่าไหร่ เงินคงเหลือในบัญชีแต่ละเดือนเท่าไหร่ นั่นหมายความว่า จะต้องมีเงินเหลือในบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ห้ามถอนออกมาหมด หากมีรายได้อะไรก็ตามเพิ่มเข้ามาก็ควรนำมาเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารนั้น ๆ
ผู้กู้จะต้องเตรียมบัญชีเงินฝากธนาคารที่คาดว่าจะใช้ยื่นกู้ซื้อบ้านจากธนาคาร และเตรียมบัญชีธนาคารให้มีรายรับที่สูงและเงินคงเหลือสม่ำเสมออย่างน้อย 6 เดือนเป็นอย่างน้อยเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าจะยื่นกู้ซื้อบ้านผ่าน
คำแนะนำ 5: ต้องไม่มีหนี้ก่อนยื่นกู้ซื้อบ้าน
นอกจากบัญชีธนาคารเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน ผู้กู้จะต้องสำรวจตนเองว่ามีหนี้สินอื่น ๆ หรือไม่ ถ้ามี มีมากน้อยแค่ไหน เช่น ค่าผ่อนรถยนต์ เป็นต้น หากมีหนี้สินที่เยอะ ต้องชำระหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดให้เสร็จก่อนทำการยื่นกู้ซื้อบ้าน เนื่องจากธนาคารมีกฎในการอนุมัติเงินกู้ซื้อบ้าน กล่าวคือ ธนาคารส่วนใหญ่จะอนุญาตให้ผู้กู้มีภาระหนี้ได้ประมาณ 30 – 40% ของรายได้ หากผู้กู้คำนวณแล้วว่ามีภาระหนี้สิ้นเมื่อรวมกับค่าผ่อนชำระบ้านต่อเดือนสูงกว่า 30 – 40% จากรายได้ทั้งหมด ผู้กู้ควรจะชำระหนี้เหล่านั้นให้หมด หรือให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และเมื่อนำมารวมกับยอดผ่อนชำระบ้านต่อเดือนต้องไม่เกิน 30 – 40 % ของรายได้ทั้งหมด หากเป็นคนหาเงินเก่งและมีหนี้น้อย อาจได้วงเงินสินเชื่อที่สูงมากขึ้นก็เป็นได้
คำแนะนำ 6: ยกเลิกบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้ หรือมีหลายใบ
นอกเหนือจากหนี้ในรูปแบบของสินเชื่อต่าง ๆ บัตรเครดิตถือว่าเป็นหนี้อีกประเภทหนึ่งที่หากผู้กู้มีมากเกินกว่าความจำเป็นหรือไม่ได้ อาจทำให้การยื่นกู้ซื้อบ้านจากธนาคารไม่ผ่าน บัตรเครดิตเปรียบเสมือนอำนาจในการซื้อ หากมีหลายใบ อาจทำให้รู้สึกว่ามีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงนั้น บัตรเครดิต คืออำนาจในการซื้อแบบหลอก ๆ เพราะสุดท้ายอำนาจในการซื้อนั้นกลับกลายเป็นหนี้ ที่ผู้ใช้จะต้องนำมาจ่ายให้กับธนาคารเป็นเจ้าของบัตรเครดิตที่แท้จริง นอกจากนี้ หากผู้กู้มีบัตรเครดิตหลายใบ ธนาคารจะมองว่าผู้กู้มีโอกาสสูงที่จะสร้างหนี้เพิ่มเติมส่งผลต่อการพิจารณาอนุมัติการกู้ซื้อบ้านให้แก่ผู้กู้ได้ ดังนั้น ผู้กู้ควรพิจารณาเลือกเก็บบัตรเครดิตที่ให้ผลประโยชน์กับผู้กู้มากที่สุด หรือยกเลิกบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้ และให้เหลือบัตรเครดิต 1 – 2 ใบเท่านั้น
คำแนะนำ 7: เอกสารยื่นกู้ซื้อบ้านต้องพร้อม
การเตรียมเอกสารยื่นกู้นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากและต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นข้อมูลและหลักฐานที่ธนาคารใช้พิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ เพื่ออนุมัติวงเงินกู้ซื้อบ้าน ผู้กู้ต้องเตรียมเอกสารให้ถูกต้อง สมบูรณ์ และครบถ้วนตามที่ธนาคารแจ้งมา โดยทั่วไป เอกสารสำหรับยื่นกู้ซื้อบ้านนั้น ประกอบด้วย สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สลิปเงินเดือน ใบรับรองการทำงาน บัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน ข้อมูลบ้านที่จะซื้อ โฉนดที่ดิน และสัญญาจะซื้อจะขายหรือมัดจำ
สลิปเงินเดือน หมายถึงหลักฐานด้านรายได้ หากผู้กู้มีรายได้หลายทาง (ถ้ามี) ก็ควรนำมายื่นกับธนาคาร ในส่วนใบรับรองการทำงานนั้น ผู้กู้ต้องทำเรื่องขออนุมัติจากหน่วยงาน อาจใช้ระยะเวลาพอสมควร เมื่อแน่ใจว่ามีความพร้อมในการซื้อบ้าน ควรทำเรื่องของใบรับรองการทำงานจากหน่วยงานไว้ล่วงหน้า
ทั้งนี้การเตรียมเอกสารสำหรับยื่นกู้ซื้อบ้านมีความแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร ดังนั้น ควรตรวจสอบเรื่องเอกสารจากธนาคารให้เรียบร้อย
สรุป
การยื่นขอสินเชื่อบ้านนั้น อาจไม่ได้น่ากลัวหรือน่ากังวลอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องศึกษารายละเอียดการยื่นกู้ซื้อให้ดี รวมถึงเตรียมความพร้อมตามคำแนะนำดังกล่าว
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
ชมข้อมูลโครงการบ้านคุณธีร์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านช่องทาง
Facebook: THEE Home
LINE: @theehome
คุณเจ: 095-645-6942